- ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัด ว่าความรุนแรงและการแพร่กระจายของ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” B.1.1.529 อานุภาพจะร้ายแรงมากขนาดไหน พวกเรารู้เพียงแต่ว่า องค์การอนามัยโลก จัดให้มันเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ส่วนลักษณะอาการก็ไม่ต่างจากสายพันธุ์ อัลฟา เบตา แกมมา และ เดลตา ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง มีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ที่สำคัญคือ ไม่สูญเสียการรับกลิ่น หรือ รส
- ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ยังไม่มีข้อมูล ในเรื่องระยะฟักตัวของ โอมิครอน แต่มีการคาดการณ์กันว่าอาจจะแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังแพร่เชื้อไปทั่วโลก อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้ อย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนของแต่ละยี่ห้อว่าสามารถป้องกันได้มากน้อยเพียงใด แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทย ยังยืนยันว่าการฉีดวัคซีน สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ และ การป้องกันตนเองแบบ Universal Prevention ยังคงได้ผล
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข “สาธิต ปิตุเตชะ” ยอมรับ ข้อมูล โอมิครอน ที่ได้ ยังไม่ 100% แต่มีความมั่นใจ ว่าระบบสาธารณสุขไทย สามารถ Handle ได้ พร้อมชี้ว่า อีก 1-2 สัปดาห์ เชื้อเดินทางมาถึงไทยแน่ๆ
แม้ว่าขณะนี้ สายพันธุ์โอมิครอน จะยังไม่ถูกตรวจพบในไทย และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ทางรัฐบาล สั่งห้ามอย่างเด็ดขาดไปแล้ว ว่าไม่ให้ 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงจากทวีปแอฟริกาใต้เข้าไทย ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ บอตสวานา โมซัมบิก ซิมบับเว นามิเบีย มาลาวี เอสวาตินี และ เลโซโท แต่ก่อนหน้านั้น ก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศดังกล่าวเดินทางเข้าไทยในโครงการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15-27 พ.ย. 2564 ถึง 333 คน
โดยข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด เดินทางออกจากไทยไปแล้ว 61 คน กักตัวครบ 14 วันแล้วจำนวน 105 คน ยังกักตัวไม่ครบ 14 วัน 167 คน ซึ่งจำนวนนี้ต้องตรวจ RT-PCR
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางรัฐบาลมีการติดตามและตรวจหาเชื้อไปแล้ว 44 คน แม้ผลออกมาจะทำให้เราโล่งใจว่า ทั้งหมดไม่มีผู้ติดเชื้อ โอมิครอน ก็ตาม แต่ยังคงเหลือถึงอีก 123 คน ที่รัฐบาลกำลังเร่งติดตามตัว ด้วยการส่ง SMS ไปหากลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้เพื่อให้รีบเข้ามาตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลรัฐฟรี โดยที่ยังไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านี้ไปอยู่ไหน และเดินทางไปที่ไหนแล้วบ้าง
สาธารณสุขไทย เตรียมการรับมือกับ โอมิครอน ไว้หมดแล้ว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงเรื่องการรับมือกับสายพันธุ์ โอมิครอน ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมมาตรการทุกอย่างไว้รับมือแล้ว รวมถึงได้เตรียมมาตรการคัดกรองไว้อย่างเข้มข้นมากขึ้น ส่วนเรื่องการควบคุมโรค ยังมีความพร้อมและปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ในเรื่องการเตรียมการรักษา ก็เป็นไปตามที่กระทรวงวางไว้ คือเรื่อง Exit Strategy (ออกจากการปิดเมืองอย่างมีกลยุทธ์) แม้จะมีการถอนโรงพยาบาลสนาม และศูนย์กักตัวชุมชน (CI) ออกบ้างแล้ว แต่ทางกระทรวงก็พร้อมเปิดรับทันที หากมีสถานการณ์แพร่ระบาดเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องการเตรียมคน ที่ก็มีความพร้อมแล้ว
“ยังมีความมั่นใจ ว่าสามารถ Handle ได้ แต่คือขณะนี้ยังต้องดูข้อมูลว่าถ้ามันกระจายเร็วกว่า เดลตา มากเป็นพิเศษ ซึ่งอันนี้ต้องดูคุณสมบัติเขา ถ้าเขาหลบภูมิวัคซีนได้ ก็จะเป็นปัญหา แต่ว่า ถ้าเขาคุณสมบัติแบบนี้อยู่ ก็ถือว่ายังพอรับได้ คือยังระบาดเร็ว แต่ว่ายังไม่มีอาการุนแรงเท่าไร ก็ยังพอรับได้ คือ จำนวนเชื้อ พอติดมันก็ไม่รุนแรง พอไม่รุนแรงก็ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ก็ใช้ Home Isolation ก็ทำได้ หรือ CI หรือ โรงพยาบาลสนาม แต่ก็ต้องขอดูข้อมูลที่ชัดเจนก่อน” นายสาธิต กล่าว
คนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนยังเป็นกลุ่มที่น่ากังวล เพราะข้อมูล โอมิครอน ที่ได้ ยังไม่ถึง 100%
ส่วนความรุนแรงและการแพร่กระจายของเชื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนของการรอข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศต้นทางที่เป็นแหล่งกำเนิดเชื้อ ที่มีการแพร่ระบาด เพราะต้องทำการบันทึกและสะสมข้อมูล เพื่อรายงาน WHO แล้วนำมาวิจัยในแต่ละส่วน ทั้งประเทศต้นทาง หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อดูว่าคุณสมบัติของ โอมิครอน เป็นอย่างไร เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติกับตัวอื่น แล้วทำการบันทึก ซึ่งเมื่อมีการบันทึกจำนวนมาก ก็จะมีข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น ว่า คุณสมบัติที่แท้จริงของมันเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อได้คุณสมบัติที่แท้จริง ทางกระทรวงสาธารณสุขไทยจะได้เตรียมวิธีการองรับได้ แต่ขณะนี้ข้อมูลอาจจะยังไม่ถึง 100% ถึงแม้จะมีการนำเส้นกราฟมาเปรียบเทียบ รวมถึงอาการติดเชื้อ หรืออัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรายสัปดาห์ มาเทียบกับเดลตาและเบตาแล้วก็ตาม แต่ โอมิครอน มีความชันกว่ามาก แต่ความชันดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับจำนวนด้วย
“คือข้อมูลมันยังน้อยอยู่ ถ้าเทียบกับ เดลตา และ เบตา เพราะฉะนั้นต้องดูอีกสักระยะหนึ่งถึงจะมีความชัดเจน รวมถึงอัตราการตายด้วย แต่อัตราการตายเราก็เชื่อว่า มันเหมือนกับโควิด ทั่วไป ที่มีกลุ่มเสี่ยงที่จะติดแล้วตาย คือ พวกคนแก่ หรือกลุ่ม 608 และโดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน”
ยืนยัน ระบบสาธารณสุขไทย ยังสามารถรับมือได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวว่า ประเด็นของทวีปแอฟริกาที่น่าเป็นห่วง คือ มีการฉีดวัคซีนน้อยมาก เฉลี่ยแล้วประมาณ 40% บางพื้นที่อยู่ที่ 10% ดังนั้น เวลาติดเชื้อ โอมิครอน แล้วเสียชีวิต จึงต้องดูว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ประกอบกับ ต้องดูภาพใหญ่ ที่มีการบันทึกข้อมูลในการลงรายละเอียดให้มากพอ จึงจะสามารถตอบคำถามได้ในเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามได้หมด แต่ปัจจุบันยังยืนยันว่าระบบสาธารณสุขไทย ยังสามารถรับมือได้
โอมิครอน เข้าไทยแน่นอน ขอให้ทำใจไว้ คาด 1-2 สัปดาห์นี้
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึง เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อ โอมิครอน ในประเทศแล้ว ทางไทยมีความกังวลในเรื่องนี้หรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยอมรับว่า มีความกังวล แต่สุดท้ายตามธรรมชาติเชื้อดังกล่าวจะต้องเข้าไทยอยู่แล้ว ต้องทำใจไว้ว่าอย่างไรก็ต้องมา ส่วนระยะเวลา ไม่น่าจะถึงเดือน คาดว่าจะอยู่ราวๆ 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ หากอัตราการติดเชื้อมากขึ้นจริง ก็จะพบผู้ติดเชื้อในอัตราเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้น หากมีการติดเชื้อเป็นหมื่นๆ คน ก็จะทำให้มีข้อมูลในการรับมือมากขึ้นตามไปด้วย
“กังวลอยู่แล้ว สุดท้ายก็เข้ามาในไทยอยู่แล้ว โดยธรรมชาติมันมาอยู่แล้ว ทำใจไว้เลยว่ามันมา ไม่ถึงเดือนหรอก อีกสักอาทิตย์ 2 อาทิตย์ ก็น่าจะ คือ ถ้าอัตราการติดเชื้อมันเยอะมากขึ้นจริงๆ มันจะมีมากขึ้นทุกวัน เป็นอัตราเพิ่ม”
มาตรการ Universal Prevention และ Covid Free Setting ยังเป็นไม้ตายในการรับมือ
ขณะที่การรับมือที่ดีที่สุดกับสายพันธุ์ โอมิครอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังยืนยันว่า มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง Universal Prevention หรือ วิธีป้องกันการติดเชื้อโควิดขั้นสูงสุด (แบบครอบจักรวาล) คือ
1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น
2. เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
3. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา
4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
5. อย่าใช้มือสัมผัสหน้ากาก รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก
6. ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ
8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
9. กินอาหารปรุงสุกใหม่ แยกสำรับ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
10. หากสงสัยว่าตนเองเสี่ยงตรวจด้วย ATK บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่
รวมถึง มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ยังเป็นไม้ตายที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์
เร่งให้ข้อมูล โอมิครอน สร้างแรงจูงใจ ให้คนเข้ามาฉีดวัคซีน
ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน ที่ยังมีคนกลัว ทำให้บางจังหวัดยอดฉีดวัคซีนไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อกังวลของทาง ศบค. ถึงขนาดออกปาก ให้ สาธารณสุขจังหวัด และทางหน่วยงานท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปพูดคุยนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาตลอด แต่จากข้อมูลคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน คือ
1. คนยังมีความกังวล
2. คนที่ไม่ต้องการฉีด เพราะไม่เชื่อในวัคซีน
3. คนที่คิดว่าสามารถป้องกันตนเองได้ โดยที่ไม่ใช้วัคซีน
4. กลุ่มคนที่ต้านวัคซีนโดยตรง
ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ สำหรับตนเองนั้น จะใช้สถานการณ์ โอมิครอน มาให้ข้อมูล เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวมีความตระหนักในการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยจะถือวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อจะให้เพิ่มจำนวน คนที่ยังไม่ได้ฉีดเข็ม 1 ให้ได้ โดยยังยืนยันเป้าหมายเดิม คือ สัปดาห์วันพ่อแห่งชาติ ต้องให้ได้ 100 ล้านโดส ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขพยายามจะทำให้ได้
นอกจากนี้ ยังมีการทำโปรโมชัน ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 1 และเข็ม 2 ออกมาอีก รวมถึงมีโปรโมชันอื่นๆ อีก โดยวันที่ 5 ธ.ค. 2564 หลายพื้นที่ก็มีการทำ ไฟเซอร์เดย์ ทั้งในกลุ่มทั่วไป และกลุ่ม 608 ประกอบไปด้วยประชากร 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
แต่หากบุคคลเหล่านั้นไม่ยอมฉีดวัคซีนอีก ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมมาตรการจูงใจไว้แล้ว โดยต้องคิดหาวิธีไปเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องการฉีดวัคซีน ยังเป็นเรื่องของความสมัครใจอยู่ดี แต่ส่วนตัวจะหาวิธีไปเรื่อยๆ เช่น ให้ทำข้อเสนอ และประกวดเหตุผลว่า ทำไมประชาชนถึงไม่ยอมฉีดวัคซีน เพื่อให้ทราบว่า คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอยู่จุดใด และเป็นใครบ้าง จึงจะหาวิธีในการรับมือได้ แต่จะไม่บังคับ เพราะเรื่องฉีดวัคซีนยังเป็นเรื่องของสิทธิ
สถานการณ์แบบนี้ ยิ่งทำให้เรารู้ดีว่า ไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ที่อย่างน้อยเมื่อติดเชื้อ ก็ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ รวมถึงการสวมหน้ากาก และล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ก็ยังจำเป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะเมื่อมองดูรอบบ้านใกล้ไทย เชื้อ โอมิครอน ก็กำลังคืบคลานเข้ามาหาเราแล้ว
จึงหวังว่า โอมิครอน ที่กำลังมานี้ จะไม่รุนแรง เพื่อบรรเทาวิกฤติโควิดที่ทั้งไทยและทั่วโลก ต่างต่อสู้มาอย่างยาวนานกินเวลา 2 ปีเต็มจะถึงจุดจบเสียที เพราะโลกและมนุษย์ต่างบอบช้ำมามากพอแล้ว อีกทั้งยังหวังว่า มันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่เรามีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับมันแล้ว.
ผู้เขียน : Supattra.l
ที่มา thairath.