กรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ 3 ช. ทำคนไม่ฉีดวัคซีนโควิด 80.89% ชะล่าใจ คิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง เผยเป็น 1 ใน 10 ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงถึงแนวทางสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ตามที่องค์อนามัยโลกวิเคราะห์ถึงความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีน เป็น 1 ใน 10 ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก ไม่ใช่เพียงโควิด-19 เท่านั้น ดังนั้น เป็นสิ่งที่ต้องก้าวข้ามความลังเลไปให้ได้
โดยกรมสุขภาพจิต นอกจากบทบาทสร้างวัคซีนใจแล้ว เราจะช่วยเตรียมใจให้ประชาชนพร้อมต่อการฉีดวัคซีนด้วย ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ทำให้เกิดความลังเลในระดับโลกไม่ได้แตกต่างกับไทย เกิดจาก 3 ช. ได้แก่ เชื่อมั่นของประชาชนต่อวัคซีน 2.ชะล่าใจประมาทต่อสถานการณ์จึงละเลย และ 3.ช่องทาง ซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐในการบริหารจัดการช่องทางรับวัคซีนให้ลงตัว สะดวกที่สุด
พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับประชากรที่ปฏิเสธวัคซีนในช่วงแรก ที่ค้นหาพบราว 1,000 คนเศษ พบว่า
1.เชื่อมั่น ในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 604 คน พบว่า มีความไม่เชื่อมั่นเกินกว่าครึ่ง โดยเชื่อมั่น ร้อยละ 46.19 และไม่เชื่อมั่นวัคซีน ร้อยละ 53.81 เพราะกังวลความปลอดภัย และผลข้างเคียงที่ไปฟังเขาเล่าว่า ฉีดแล้วเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์เลยว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนหรือปัจจัยอื่น แต่ก็บั่นทอนความเชื่อไปแล้ว
รวมถึงความปรารถนาของประชาชนที่อยากมีสูตรวัคซีนที่ตรงกับใจของตัวเอง ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นกระทบกลุ่ม 608 มากกว่าคนทั่วไป เพราะพบว่า มีความเชื่อมั่นเกินกว่าครึ่ง สธ.พยายามให้ข่าวที่สร้างความเชื่อมั่น เผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง โดยหลายจุดบริการฉีดก็เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเลือกชนิดวัคซีนฉีดได้
2.ชะล่าใจ พบว่า ผู้ที่รู้ตัวว่าเสี่ยงร้อยละ 19.11 และ ผู้ปฏิเสธวัคซีน ร้อยละ 80.89 มองว่าเรื่องนี้ไม่เกิดความเสียหายต่อตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาติดเชื้อหรือความเสี่ยงต่อชีวิต ซึ่งกลุ่มนี้กลับให้ข้อมูลว่า ในจังหวัดที่อยู่มีการระบาดถึงร้อยละ 51 และมีคนรู้จักติดเชื้ออีก ร้อยละ 26.59 ดังนั้น เราพบว่ามีความบิดเบี้ยวของหลักการและเหตุผลอยู่ประมาณหนึ่ง เป็นประเด็นสำคัญที่ สธ. เครือข่ายและประชาชนทุกคนต้องช่วยกันดูแลไม่ให้คงความชะล่าเช่นนี้
ขณะที่ 3.ช่องทางรับวัคซีน โดยสธ.ต้องน้อมรับว่ามีหลายกลไกที่สามารถปรับปรุงได้ เพราะเราได้ข้อมูลว่า ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีความสะดวกในการเดินทางเข้ารับวัคซีนเพียง 61.61% และที่ไม่สะดวกถึง 48.39% ดังนั้น สังเกตได้ว่าระยะหลังทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขับเคลื่อนเพิ่มจุดวัคซีนให้กว้างขวางขึ้น ทำงานเชิงรุกเดินเข้าชุมชนเพื่อฉีดวัคซีน อำนวยความสะดวกในกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ การเรื่องการนัดหมายพบว่า มีความสะดวก ร้อยละ 52.94 และไม่สะดวก ร้อยละ 47.06 เพราะเราอาจจะมีหลายแอพพลิเคชั่น ไม่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด
“ทั้ง 3 ช.ที่ผ่านมา ทีม สธ.ทำงานหนักมาก มอบหมายนโยบายเชิงรุก เข้าถึงผู้ต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้น มีทีมอำนวยความสะดวกทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พระภิกษุ ชุมชนที่เข้าถึงยาก เพื่อขยายการฉีดวัคซีนให้เต็มที่” พญ.อัมพร กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ได้ศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ที่ปฏิเสธการรับวัคซีน พบว่าหลายคนที่ลังเลในเบื้องต้น แต่กลับถูกสั่นคลอน อยากฉีดวัคซีนด้วยแรงจูงใจจากครอบครัวที่มีผลอย่างมาก ดังนั้น หากมีสมาชิกโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เราต้องช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่กันและกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
โดยกลไกการจูงใจฉีดวัคซีนที่สำคัญ คือ “VUCA” ได้แก่ “V” Vaccine ฉีดวัคซีนลดการป่วยหนัก “U” Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา “C” Covid Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการพร้อม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และ “A” ATK พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้คนติดเชื้อหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ
“ที่ผ่านมา สธ.ติดอาวุธให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรสาธารณสุข ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า VA (Vaccine Advice) และ VI (Vaccine Intervention) คือ การถามเป็นกังวลใจอะไร สงสัยอะไร และให้กำลังใจเป็น เมื่อมีข้อมูลถูกต้องเราก็ชื่นชม แต่หากไม่ใช่ เราก็ต้องอธิบาย เพื่อให้ความลังเลนั้นหายไป ซึ่งกลไกลดังกล่าวทำให้ผู้ลังเลฉีดวัคซีนกว่า 1,188 คน ยอมรับการฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจไปถึงร้อยละ 80 เพื่อให้การฉีดวัคซีนจากปัจจุบันกว่า 95 ล้านโดส ไปจนถึง 100 ล้านโดส ในอนาคตอันใกล้นี้” พญ.อัมพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงจะมีวิธีลดข้อวิตกกังวลโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ต่อประสิทธิภาพวัคซีนอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า ขอเปลี่ยนแปลงการตกใจ เป็นพลัง ด้วยการมีสติ ตั้งหลักดีๆ ในการรับรู้ข่าวสาร เมื่อได้ข้อมูลทบทวนให้ดี และถามตัวเองว่า กังวลใจเรื่องอะไร และเรายังขาดข้อมูลอะไร รวมทั้งจะมีวิธีการจัดการสถานการณ์อย่างไร ที่สำคัญต้องชื่นชมตัวเองว่า เรามีสติในการถามข้อมูลที่ถูกต้อง ถามจากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ พร้อมรับฟัง สิ่งเหล่านี้ก็จะลดความตื่นกลัวได้
ที่มา khaosod