สธ.ยัน “โอไมครอน” ไม่น่ากลัว ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต ใกล้สู่โรคประจำถิ่น ชี้เป็นสัญญาณดี เปิดประเทศได้เร็วขึ้น ย้ำป้องกันตัวให้ดี รีบมาฉีดวัคซีน
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 และสายพันธุ์โอไมครอน ว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกพบติดเชื้อเพิ่ม 4.09 แสนราย สะสม 266.5 ล้านราย เสียชีวิตเพิ่ม 4.6 พันราย สะสม 5.27 ล้านราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก เช่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี พบว่าสถานการณ์แถบยุโรปหลังฉีดวัคซีนไปหลายเดือนแล้ว ประชาชนอาจเริ่มมีภูมิคุ้มกันลดลง และมาตรการที่จำเป็นที่บ้านเรายังทำคือ การสวมหน้ากากนั้น หลายประเทศคนเริ่มไม่สวมหน้ากากมากขึ้น จึงมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น เมื่อเชื้อแพร่ไปสู่คนไม่ฉีดวัคซีนจึงมีโอกาสสูงอาการรุนแรง
ส่วนประเทศแอฟริกาใต้ที่เป็นต้นทางของเชื้อโอไมครอนนั้น สถานการณ์ติดเชื้อไม่ได้สูงขึ้นมาก โดยติดเชื้อเพิ่ม 6 พันกว่าราย เสียชีวิต 9 ราย ซึ่งแอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากร อาจจะป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้พอสมควร เพราะตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทั่วโลกของโอไมครอนนั้น ขณะนี้ติดเชื้อแล้ว 54 ประเทศ เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 19 ประเทศ พบในผู้เดินทางเท่านั้น 35 ประเทศ ยังไม่มีรายงานเสียชีวิตอย่างเป็นทางการของโอไมครอนชัดเจน ทั้งนี้ หลายคนตอนนี้มีแพลนเดินทางไปต่างประเทศ เดินทางกลับมาก็ติดเชื้อกลับมาด้วย การใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลในต่างประเทศต้องปฏิบัติตลอดเวลา
นอกจากนี้ เรายังยกระดับการเฝ้าระวังโรคทางช่องทางเข้าออกต่างๆ ต่อเนื่องและสถานที่ท่องเที่ยว และจะมีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทั้งระบบแซนด์บ็อกซ์ กักตัว หรือ Test&Go ถ้าผลเป็นบวกจะตรวจหาสายพันธุ์ 2.พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ในสถานที่เสี่ยง และ 3.ผู้มีอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ โอไมครอนยังไม่ได้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากลัวมากตามที่หลายท่านกังวลว่า จะมีผลทำให้เสียชีวิตจำนวนมาก ตอนนี้ยังไม่มีผู้ป่วยอาหารหนัก และการฉีดวัคซีนยังไม่มีผลข้อมูลชัดเจน ยังต้องฉีดไปก่อนเพื่อป้องกันการระบาดที่ตอนนี้ประเทศไทยเป็นเดลตา
เมื่อถามว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีการระบาดรวดเร็วเพียงใด และวัคซีนตัวไหนที่ป้องกันได้ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า โอไมครอนถือว่ามีการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ 2-5 เท่า อาจมากกว่าเดลตาเล็กน้อย ก็มีความเป็นห่วงว่าถ้ามีการแพร่ระบาดมากๆ และมีการอาการรุนแรง อาจทำให้พบผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาประมาณ 10 วัน ข้อมูลที่ได้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตทางการ อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจมีรายงานบางราย การติดเชื้อหลายพันคนของโอไมครอน จึงพบผู้ติดเชื้ออาการน้อยเป็นหลัก อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่มากกว่า
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ถือเป็นข่าวดีว่าถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ โอไมครอนอาจเป็นตัวช่วยให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้นและเข้าสู่นิวนอร์มัลเร็วขึ้น เพราะแพร่เร็วติดเชื้อไม่รุนแรง และเราฉีดวัคซีนค่อนข้างมากแล้ว ส่วนวัคซีนประสิทธิภาพสูงสุดป้องกันติดเชื้อหรือป่วยหนักของโอไมครอน หลายบริษัทพยายามผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ที่รวมของโอไมครอนเข้าไปด้วย ซึ่งเราจะติดตามต่อเนื่อง แต่วัคซีนที่ฉีดทุกวันนี้ก็ยังป้องกันติดเชื้อได้บ้าง และป้องกันการป่วยหนักได้ อยากให้คนที่ยังไม่ฉีดพยายามศึกษาข้อมูลและรีบมาฉีดกัน
เมื่อถามต่อว่าโควิด-19 มีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โอไมครอนอาจเป็นสัญญาณที่ดีที่การติดเชื้ออาการไม่รุนแรง ลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้เราเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น แต่ต้องร่วมด้วยกับมาตรการ VUCA ด้วย เพราะการเป็นโรคประจำถิ่นแล้วป้องกันการป่วยเสียชีวิตและติดเชื้อได้ การฉีดวัคซีนเป็นตัวแรกที่ต้องช่วยกัน หลุดไม่ได้คือสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ต้องปฏิบัติไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นจริงๆ จะเห็นว่าหลายประเทศในยุโรปและอเมริกามีตัวเลขสูงอยู่ และมีผู้เดินทางจากต่างประเทศมาด้วย แม้จะตรวจ RT-PCR มาแล้วก็ตามก็ต้องป้องกันต่อไป
เมื่อถามว่าจะขยายการรอผลตรวจ Test&Go มากกว่า 1 คืนหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เท่าที่ดูสถานการณ์โอไมครอน เป็นการติดเชื้อค่อนข้างเร็ว ระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น การเดินทางมามีการตรวจหาเชื้อ 3 วันก่อนมาถึงเมืองไทย ระยะฟักตัว 2-5 วัน มาถึงประเทศไทยตรวจวันแรกก็เกือบ 5 วันแล้ว โดยหลักการ Test&Go มีความเสี่ยงน้อยในการไปตรวจเจอวันหลังๆ การเปิดประเทศต้องยอมรับว่ามีโอกาสเจอได้ ระบบเฝ้าระวังที่วางไว้ต้องทำ 3 กลุ่มหลักๆ คือผู้เดินทางเข้ามา เจอเป็นคลัสเตอร์ เจอผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตต้องสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ต่อ
เมื่อถามว่าใช้เวลาเท่าไรโอไมครอนถึงจะแพร่กระจายครอบคลุม นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ถ้าเทียบกับเดลตาใช้เวลา 2-3 เดือนหมดประเทศ และกระจายพื้นที่ห่างไกล โอไมครอนเข้าใจว่าแพร่เร็วกว่า แต่ขึ้นกับมาตรการของแต่ละประเทศดำเนินการ ตอนนี้มีไม่กี่ประเทศที่จำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ส่วนใหญ่ยังไม่จำกัด การป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากาก ถ้าไม่เข้มงวดในหลายประเทศ โอกาสการแพร่ก็จะเร็วขึ้น มีความเป็นห่วงว่าถ้าทำให้ผู้ป่วยอาการหนัก ต้องเตรียมพร้อมด้านการแพทย์มาช่วย แต่ของโอไมครอนสถานการณ์ไม่รุนแรงมากในส่วนของการป่วย การแพร่ระบาดไปเร็วหรือช้าจึงกังวลไม่มากนัก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่มีอาการรุนแรงกว่า
“คนเดินทางจาก 8 ประเทศแอฟริกายังกักตัวอยู่ คนเสี่ยงมากๆ ถูกกักตัวเต็มที่ 63 ประเทศ ระบบ Test&Go มีการรีเช็กด้วย RT-PCR เข้าแซนด์บ็อกซ์ก็ตรวจ 2 ครั้งอยู่แล้ว มั่นใจได้มากขึ้น ถ้ากังวลไม่ใช่คนต่างประเทศเข้ามา คือการติดเชื้อในประเทศที่ระบาดคลัสเตอร์เล็กๆ กระจายทั่วประเทศ และคนไทยเดินทางไปต่างประเทศต้องระวังตัวเอง ไม่ใช่พาเชื้อกลับมา”
“คนไทยจากต่างประเทศกลับมาส่วนใหญ่เข้า Test&Go เพราะฉีดวัคซีนมาแล้ว ส่วนใหญ่ถ้าเดินทางไม่ถึง 7 วัน จะตรวจ RT-PCR ที่สนามบินอย่างกรณีข้าราชการ แต่แบบนี้ตรวจแค่ครั้งเดียว ก็ต้องเร่งติดตามต่อเนื่องกรณีมีอาการ แต่ปัญหาของคนไทยน้อย เพราะรักษาฟรีที่ รพ. ตรวจหาเชื้อก็ฟรี ถ้าสงสัยตัวเองก็ตรวจได้เลย” นพ.จักรรัฐกล่าว
เมื่อถามว่าถ้าคนไทยกลับมาควรจะสังเกตตัวเองตั้งแต่วันที่เท่าไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เราประกาศวันที่ 28 พ.ย. จริงๆ ติดเชื้อตั้งแต่กลาง พ.ย.ในหลายประเทศ แต่ก่อนหน้านี้คนไทยไปต่างประเทศไม่มาก ต่อไปจะเยอะขึ้นเป็นเรื่องที่กังวล ดังนั้น เมื่อกลับมาในช่วง 7 วันให้สังเกตอย่างหนัก โดยเฉพาะคนไปแอฟริกาที่เดินทางไปทำงานมีโอกาสไม่สวมหน้ากาก ป้องกันตัวไม่ดีมีโอกาสนำเชื้อกลับมาง่ายขึ้น
เมื่อถามถึงแรงงานที่หมดสัญญาทยอยเดินทางกลับ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ถ้ากลับมายังไม่ฉีดวัคซีนเข้าระบบกักตัว แต้ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้วเข้าระบบ Test&Go หรือแซนด์บ็อกซ์แล้วแต่ระบบที่วางไว้ เพราะสองตัวหลังต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่ง Test&Go จริงๆ ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่ตอนนี้พยายามให้คนเดินทางเข้าประเทศสะดวกมากที่สุด ซึ่ง ATK อาจเป็นคำตอบในการตรวจครั้งที่ 2
ที่มา khaosod