เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พ.ต.อ.มนตรี เทศขัน พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.อ.นิตติโชติ เพ็ญจำรัส ผกก.4 บก.ปอศ. ร่วมกันแถลงผลผลปฏิบัติการสนธิกำลังตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 9 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายบริษัทชื่อดังหลอกลวงนักลงทุน โดยจับกุมผู้กระทำผิด 4 ราย คือ พ.ท.พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข ประธานโครงการ “เที่ยวเพื่อชาติ” น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม อายุ 33 ปี น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ อายุ 37 ปี และนายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ อายุ 40 ปี ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”
พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากผู้ต้องหาเครือข่ายดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่วมกันตั้งบริษัทขึ้นมาหลายแห่งในลักษณะเครือข่ายใหญ่ ก่อนหลอกชักชวนให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักลงทุนนำเงินมาร่วมลงทุนในหลายรูปแบบ อ้างจะได้รับผลตอบแทนสูง โดยช่วงแรกจะทำทีจ่ายเงินค่าตอบแทนจริง เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายตายใจนำเงินมาลงทุนเพิ่ม จากนั้นจะเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนหรือคืนเงินลงทุนให้กับผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ ก่อนจะขาดหายการติดต่อไป ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อนับพันรายมูลค่าความเสียหายกว่าพันล้านบาท ซึ่งมีการรวมตัวเข้าแจ้งความไว้ที่ บก.ปอศ. ทั้งนี้ด้วยความที่มีผู้เสียหายจำนวนมากมูลความเสียหายที่ค่อนข้างสูง ทาง บช.ก. จึงสั่งให้ดำเนินการในรูปแบบของคณะทำงาน ประกอบด้วย บก.ป. บก.ปอศ. และ บก.ปอท. เพื่อเร่งติดตามจับกุม จนมีการออกหมายจับจำนวน 6 คน พร้อมกับเปิดปฏิบัติการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่นำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย และตรวจยึดเอกสารหลักฐานต่างๆอีกจำนวนมากคงเหลือผู้ต้องหาอีกเพียง 2 รายที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนี จึงอยากฝากถึงผู้ต้องหาที่เหลือว่าหากมั่นใจว่าไม่ผิดก็ขอให้เข้ามามอบตัว และยินดีให้ความเป็นกับทุกฝ่าย ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ส่วนที่ปรากฏภาพของนักการเมืองระดับประเทศไร่วมงานเปิดตัวบริษัทในเครือของกลุ่มผู้ต้องหา จะต้องถูกเชิญตัวมาสอบสวนหรือไม่นั้น ส่วนนี้ไม่สามารถบอกได้เนื่องจากต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าจะมีความเกี่ยวข้องหรือไม่
ด้าน พ.ต.อ.นิตติโชติ กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมการหลอกลวงของกลุ่มผู้ต้องหามี 5 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.เปิดบริษัทท่องเที่ยว ชักชวนผู้เสียหายซื้อแพ็กเกจทัวร์ แต่ไม่มีการจัดท่องเที่ยวจริง 2.ชวนนำเงินมาร่วมลงทุนในรูปแบบสหกรณ์ อ้างให้ปันผลสูง แต่สุดท้ายก็ไม่มีปันผล 3.ชักชวนลงทุนซื้อ ขายสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์จากทางบริษัทในเครือผู้ต้องหาแล้วปล่อยเช่า ซึ่งทางกลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าจะเป็นผู้ควบคุมบริหารจัดการค่าตอบแทนให้ทั้งหมดโดยที่ผู้เสียหายไม่เคยพบเห็นหรือจับต้องตัวสินค้าจริงๆแต่อย่างใด 4.ชักชวนให้นำเงินสดหรือทองคำ มาเข้าร่วมในระบบกองทุนส่วนตัวของกลุ่มผู้ต้องหา โดยอ้างว่าในทุก 21 วันจะได้รับเงินตอบแทนกลับคืนคิดเป็นร้อย 9.5 ของเงินลงทุน และ 5.ชักชวนให้ลงทุนซื้อทองคำจากร้านจำหน่ายทองคำทั่วไป แล้วนำทองคำพร้อมใบเสร็จมาลงทุนตามโปรโมชั่นของบริษัท โดยยอดการลงทุนคำนวณจากราคาทองคำตามที่ระบุในใบเสร็จ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลกำไรตอบแทนร้อยละ 43.5 ของเงินลงทุน โดยจะแบ่งจ่ายกำไรเป็น 2 งวด พร้อมกับแบ่งจ่ายคืนเงินต้นเป็นงวดๆ รวม 10 งวด
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องหาเครือข่ายดังกล่าวที่ยังอยู่ระหว่างการหลบหนี อีก 2 รายคือ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานโครงการ “คืนคุณแผ่นดิน” ทำหน้าที่เปรียบเหมือนตัวการใหญ่ หรือ หัวหน้าขบวนการ และ นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ รองประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนยังคงกระจายกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแสที่กบดานของผู้ต้องหาทั้ง 2 รายนี้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่ายังคงหลบหนีอยู่ภายในประเทศ นอกจากนี้ยังเร่งดำเนินการตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินและทรัพย์สินต่างๆของเครือข่ายดังกล่าว เพื่อตามยึดทรัพย์แล้วนำเข้าสู่กระบวนการชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย ขณะที่ในส่วนของผู้ต้องหาทั้ง 4 รายที่ถูกจับกุมตัวได้แล้วนั้นจากการสอบสวน เบื้องต้นทั้งหมดยังคงยืนกรานให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับดำเนินการตามขั้นตอนกำหมายต่อไป
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าตรวจสอบประวัติ นายประสิทธิ์ พบว่า เคยมีข้อพิพาทกับ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ช่อ แกนนำคณะก้าวหน้า หลังถูก น.ส.พรรณิการ์ ออกมาเปิดโปงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกองทัพไอโอ หรือปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพ และให้กองทัพใช้เซิร์ฟเวอร์ฟรี จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
ขอบคุณที่มา Matichon